จากเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างกองกำลังทหารไทย และกัมพูชา อันเนื่องมาจากกรณีพิพาทบริเวณชายแดนระหว่างสองประเทศครั้งล่าสุด ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2554 ที่พื้นที่ชายแดนด้านที่ติดกับจังหวัดสุรินทร์ก่อนที่จะลุกลามไปยังเขตอื่นๆของจังหวัดบุรีรัมย์ ส่งผลให้ราษฏรไทยที่อาศัยอยู่บริเวณแนวชายแดนดังกล่าว จำนวน 45,796 คนต้องละทิ้งบ้านเรือนของตน กลายเป็นผู้อพยพภายในประเทศ อาศัยอยู่ตามจุดรองรับผู้อพยพ จำนวน 35 แห่ง ในจังหวัดสุรินทร์ และ 8 แห่งในจังหวัดบุรีรัมย์
กรรมาธิการฝ่ายสังคม (Caritas Thailand) สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย และสำนักงานโคเออร์
มิได้นิ่งนอนใจ และดำริให้ความช่วยเหลือราษฎรไทยอพยพเหล่านี้โดยให้ความสำคัญต่อ เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการเป็นอันดับแรก ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานโคเออร์สุรินทร์ และอรัญประเทศเป็นผู้ดำเนินการ
โดยเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2554 ได้มีการมอบสิ่งของบรรเทาทุกข์แก่ผู้อพยพ ที่จุดรองรับผู้อพยพโรงเรียนบ้านโคกกลาง ต.โคกกลาง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ซึ่งในวันดังกล่าวมีผู้อพยพจำนวนทั้งสิ้น 5,300 คน สิ่งของบรรเทาทุกข์ที่มอบให้ ประกอบด้วย นมผงสำหรับเด็กเล็ก นมยูเอชที ขนมปัง ผ้าอ้อม ยากันยุง หมาก พลู นอกเหนือจาก น้ำดื่ม และบะหมี่สำเร็จรูป ซึ่งได้นำไปมอบให้แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่ผ่านมา
คุณสุทธิพงษ์ แย้มสง่า ผู้ประสานงานโคเออร์สุรินทร์ (คนที่ 3 จากขวา) และ คุณศิวะ บุญเลิศ ผู้จัดการสนาม
โคเออร์อรัญประเทศ (ขวาสุด) กำลังมอบสิ่งของบรรเทาทุกข์แก่ผู้อพยพที่จุดรองรับผู้อพยพโรงเรียน
บ้านโคกกลาง โดยมีคุณเสมอ สระศรี ปลัดอาวุโส อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์เป็นผู้แทนรับมอบ
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2554
จุดรองรับผู้อพยพโรงเรียนบ้านโคกกลาง เป็น 1 ในจุดรองรับผู้อพยพ จำนวน 43 แห่ง ที่จัดตั้งขึ้น เพื่อให้
ราษฏรจากตำบลต่างๆ ที่ตั้งอยู่ติดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา จำนวน 6 ตำบล ได้แก่ 5 ตำบล ของอำเภอ
พนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ และอีกหนึ่งตำบลของอำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ได้อพยพเข้ามาอยู่ภายในจุดรองรับแห่งนี้ ผู้อพยพกระจายกันอาศัยอยู่ตามใต้ถุนอาคาร ตลอดจนตามห้องเรียนต่างๆ รวมทั้งในบริเวณ
พื้นที่ว่างภายในบริเวณโรงเรียน
ทั้งนี้ ตามรายงานข่าวล่าสุด เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง จังหวัดสุรินทร์ได้ทำการปิดจุดรองรับผู้อพยพโรงเรียนบ้านโคกกลาง และส่งราษฎรไทยอพยพกลับภูมิลำเนาแล้ว เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2554
ข้อมูลอ้างอิง จาก เว็บไซต์กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (กรมปภ.) กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 |